CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

Coursera : Introduction to Software Testing

มีความตั้งใจอยากลงเรียนที่ Coursera เพราะว่าเป็น Platform Online Learning ที่ดังและมีชื่อเสียง แถมหากเรียนที่นี่จบ ยังได้รับ Certificate เพื่อเอาไปประกอบการสมัครงาน หรือนำไปใช้ติดสไลด์ประกอบการบรรยาย ว่าเราเป็นผู้ที่ผ่านการลงเรียนในเรื่องนั้นมาแล้วจริงๆได้อีก

จากความตั้งใจเดิม คือจะเก็บเงินเพื่อไป Take Course รายปีของที่นี่ ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท หากหารเป็นเดือน ก็จะตกเดือนละพันนิดๆ แต่พอคิดๆดู ก็ยังไม่กล้าที่จะเสี่ยงเอาเงินหมื่นไปลง แล้วไม่รู้เราจะเรียนไหวมั้ย เพราะเป็นภาษาอังกฤษล้วน (แต่ตอนนี้มีบรรยายภาษาไทยแล้ว) และก็ยังไม่รู้อีกว่าจะมีรูปแบบการสอนจะเหมือนหรือแตกต่างจาก Udemy , Linkedin Learning อย่างไร

แล้วจู่ๆ ก็ไปเจอ Post จาก Future Trends ว่าทาง Coursera จัดโปร จ่าย 1 เหรียญ เรียนไม่อั้น ตลอดระยะเวลา 1 เดือน หลังอ่านเจอแล้วก็กดสมัคร แล้วจ่ายเงินไปเลยทันที ไม่ต้องคิดอะไรอีกใดๆ กะว่าหากเข้าไปเรียนแล้ว จะเก็บเอา Certificated มาประดับ Profile ซัก 3-4 ใบ เรียนมันไปให้คุ้มเลย 5555

ในความเป็นจริง หลังจ่ายเงินและเข้าเรียนเสร็จ รูปแบบการเรียนก็ถือว่าไม่แตกต่างกับเรียนใน Platform อื่นๆมากนัก แต่ที่เห็นว่าแตกต่างเลยจริงๆเลยก็คือ

1.ทุกบทเรียน มีเทส

ในแต่ละวิดีโอที่เราดูไป หลังดูจบ จะมีเทสขึ้นมาให้เราตอบเพื่อเป็นการทบทวนความรู้ในหลายๆหัวข้อ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจเลย เพราะช่วยให้เราตั้งใจกับการเรียนมากขึ้น หากระหว่างเรียนมีการเขียน Note เก็บไว้ จะช่วยทำให้การทดสอบตรงนี้ง่ายขึ้นมาก

สำหรับคนที่มีคำถาม ว่าหากระหว่างที่เราทำเทส แล้วเราทำผิดหล่ะ ตรงนี้จะทำยังไง

ต้องตอบไปเลย ว่าเว็บนี้ให้ผิดได้ไม่อั้น อยู่ที่ว่าคุณทำคะแนนได้ถึงขึ้นต่ำที่เขาต้องการไว้หรือไม่ เช่น
-บางหัวข้อ ต้องการให้คุณทำคะแนนได้ถึง 80%
-บางหัวข้อ ต้องการให้คุณทำคะแนนได้ถึง 100%
-บางหัวข้อ ต้องการให้คุณทำคะแนนได้ถึง 100% รวมถึง หากคุณตอบผิดไม่ถึงเป้า คุณจะต้องรอเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนจะเข้าไปสอบใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง !!!

ในมุมมองคนเรียน แล้วเห็นระบบการทำงานอะไรที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยเรียนมา ก็รู้สึกว้าวกับตรงนี้เหมือนกันนะ หรือหากเราอยากทำ Platform เกี่ยวกับ Corse Online ขึ้นมา เอาความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ ก็ถือว่าเป็นความคิดที่ดีเช่นกัน

2.ในแต่ละ Week มี Assignment

นอกจากจะมีเทสที่เราทำไปในแต่ละบทเรียนแล้ว ตัว Platform ยังมอบหมายงานให้เราทำด้วย
อย่างหัวข้อที่เรียนมาจะเป็นหัวข้อ Introduction to Software Testing ก็จะมีมอบหมายงานเกี่ยวกับการเขียน Test Case ด้วยภาษา Java ให้ครอบคลุมกับโจทย์ที่เขาให้มา โดยมี Code ตัวอย่างมาให้เราดู หน้าที่ของเรามีแค่ แก้ไข Code ให้มันทำงานให้ถูกและดี อย่างที่ควรจะเป็น โดยมีวิธีการติดตั้งเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละ OS , Version ของ Java ที่ต้องการ หลังจากนั้นก็ส่ง Code ไปให้ Platform นี้ตรวจ

โดยหน้าจอการสั่งงานก็จะประมาณภาพด้านล่างนี้

หากทำงานที่สั่งให้เสร็จแล้ว ก็ไปที่ Tabs My Submissions เพื่อส่งงานและรอดูผลกันได้เลย

ความเจ๋งของ Platform นี้อีกหนึ่งอย่างนั่นคือ เมื่อผู้เรียนส่ง ​Code ไปให้กับทางระบบ หลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่นาที ตัวระบบก็แจ้งกลับ ว่า Code ที่เราส่งไป ได้คะแนนเท่าไหร่ หากมีสิ่งอะไรที่ขาดหรือผิดพลาดไป ก็จะแจ้งกลับมาตามภาพด้านล่างเลย

ตรงนี้หากคิดอยากทำ Platform เกี่ยวกับ Corse Online ก็ต้องคิดเพิ่มแล้วหล่ะ ว่าจะใช้ Features อะไร เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบ Code ที่นักเรียนส่งเข้ามาได้ (ChatGPT API , CoPilot API ?)

3.ให้แต่ละผู้เรียน ทำการให้คะแนนผู้เรียนคนอื่นๆด้วยตัวเอง

ต่อจากหัวข้อที่เรียน มันมีงานนึงจะต้องเขียน Test Plan ขึ้นมา ในโจทย์ก็จะมีไฟล์ตัวอย่างมาให้ 3 Files ดังนี้

-ตัวธุรกิจที่เรากำลังจะเขียน Test Plan ว่ามีรูปแบบการทำงานอย่างไร
-ตัวอย่าง Test Plan ที่เอาไว้ดูเป็นตัวอย่าง
-Test Plan Template

หัวข้อนี้เหมือนจะไม่มีอะไรมาก คือให้อ่านให้มาก แล้วก็เขียนแผนออกมา แค่นั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องผิดหรือถูก แต่ที่กังวลมากที่สุด คงจะเป็นเรื่องภาษาอังกฤษนี่แหล่ะ ที่เราจะเขียนยังไงดีว้า เขาจะให้คะแนนเรามั้ยนะ (^____^”)
ซึ่งเอาจริงๆ ก็ถือว่าติดอยู่ตรงหัวข้อนี้นานพอสมควร จนเกือบถอดใจไปเลย


แต่พอผ่านมาได้ กลั้นใน จากนั้นก็ Upload File Test Plan ของเราขึ้นไปให้เพื่อนๆตรวจกัน

จังหวะการตรวจที่กังวลไว้ตั้งแต่แรก ว่าเราจะโดนตรวจอย่างไร ก็คลายกังวลเมื่อเราส่งงานไป

หลังจากส่งงานเราจะได้รับหน้าที่การตรวจคนอื่นๆไปด้วย ในที่นี้เราจะได้เห็น Test Plan ในหัวข้อนี้ที่คนอื่นเขียนมาและส่งเข้ามาในระบบเยอะแยะเลย ทำให้คิดได้ว่า หากรู้แบบนี้ คงจะส่งแบบง่อยๆไปก่อน แล้วค่อยไปลอกเพื่อนตอนตรวจก็ได้ 555

วิธีการตรวจก็ไม่ยากมาก ทางระบบ เขาจะเตรียมวิธีการตรวจมาให้เราช่วยตรวจสอบ หน้าที่ของเรา มีแค่ตรวจสอบว่าใน Test Plan ที่ส่งกันเข้ามา มีหรือไม่มีสิ่งไหน

หรือในความคิดของเรา เราคิดว่าส่วนไหนใน Test Plan นี้คือจุดแข็งของเขา ก็สามารถเขียนลงไปเพื่อบอกผู้เรียนคนอื่นๆได้

ต้องบอกว่าตรงจุดนี้แอบว้าวกับ QA Engineer จากอินเดียหลายคนมากๆ ที่ทำ Test Plan ออกมาได้สวยมาก
มีใส่ Metric UI ตารางต่างๆเข้ามา พอเห็นแล้วก็ได้แต่ชื่นชม

4.มี MiNi Project ให้ทำก่อนจบ

หลังจากเรียนมาจนครบทุกหัวข้อ มาที่หัวข้อสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเขียน Code Test Script ให้ครอบคลุม เหมือนกับหัวข้อแรก แต่ในที่นี้มี Tools มาให้ใช้ร่วม รวมทั้งหมด 3 ตัว โดยเราต้องเขียน Script ทั้งหมด 3 Script และส่งให้ Platform นี้ตรวจ

ส่วนตัว คิดว่าส่วนนี้คือส่วนที่ทำยากที่สุด บางคนที่เรียนพร้อมๆกัน ส่งมากกว่า 20 ครั้งถึงจะผ่านหัวข้อนี้เลยก็มี !!!!

หลังผ่านการเรียนมา 3 สัปดาห์ และความคาดหวังว่าจะเอา Certificate จากเว็บนี้ไปเยอะๆ ด้วยทุน 1 เหรียญ กลับพบว่า มันก็ไม่ง่ายแบบเปิดฟังให้จบแล้วจะได้ Cert เลยน้า (^____^”)

ยิ่งพอเรียนคอร์สนี้แล้วกลับทำให้เราหันมาทบทวนเลย ว่าเรายังจำเป็นจะต้องเรียนเพื่อหวัง Cert จริงดิ 5555

ก่อนจบไปถือว่าประทับใจกับ Platform นี้มากๆ ช่วยเปิดจินตนาการการเรียนไปอีกขั้น และก็ทำให้รู้มากขึ้นไปอีก ว่า Platform ที่ให้บริการคนทั้งโลกนั้น ทำงานกันอย่างไร

=============================================================================

และในที่สุดก็ได้รับ E-Mail แจ้งเตือน ว่ายินดีด้วย คุณได้ผ่านหลักสูตร !!

https://coursera.org/share/64f50ffcefa0f6a78799b9df28bcad3e

ภูมิใจไม่รู้จะภูมิใจยังไง ที่ได้ Cer ใบนี้จาก Coursera มาได้

เพราะตอนเรียนนั่งเรียนจริงๆจังๆ นั่งแก้ Code , เขียน Test Plan เป็นเรียงความภาษาอังกฤษ

ถึงขนาดเริ่มท้อใจ ว่าเราจะเรียนไปต่อทำไมน้า เสียเงินลงเรียนไปแค่ 1 เหรียญ ปล่อยๆไปเถอะ

แต่สุดท้ายก็คว้า Cert มาได้

ลองคิดเหมือนกันว่าหากไปลงเรียนแบบเทคคอร์สรายปี เสียเงินเป็นหลักหมื่น แล้วเรียนได้ไม่กี่คอร์ส

หรือลงเรียนคอร์สแล้วเรียนไม่จบ (เพราะมันยากตรง Assignment + Mini Project)

ตอนนั้นจะเป็นยังไงนะ คงจะต้องมานั่งบ่น คิดเสียดายเงิน เป็นแน่แท้

555

ต่อไปคงต้องทบทวนตัวเองอีกที ว่านี่เราจะเรียนเอา Cer แบบแค่เรียนๆไปนั่งเรียนทั่วๆไปก็พอขอให้ได้ความรู้

หรือเรามาเอา Cer แบบกิจลักษณะ ที่ต้องทำการบ้าน ส่ง Project ทำ MiniProject แบบนี้อีกทีดี

แต่ที่รู้แน่ๆตอนนี้ พักก่อน (^_____^)

“The beautiful thing about learning is that no one can take it away from you.”

— B.B. King

CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

ฝึก POSTMAN ให้เป็น QA ขั้นเทพ (#POSTMAN101)

ได้รับโจทย์ว่าหากอยากให้ทีมของเรามี API Test จะต้องทำยังไง มันถึงจะเกิดขึ้น
ด้วยความที่ทีม Dev เขียน Collection ใน Postman ซะสวยเลย ก็เลยไปศึกษาหาความรู้เรื่อง Postman ซะหน่อย

หากใครอยากรู้ว่า Postman ทำอะไรได้บ้างและมันมีความสามารถที่ทรงพลังยังไง ขอแนะนำคอร์สนี้เลย
จับมือทำ ตั้งแต่ตั้นจนจบ กับเวลา 3.5 ชั่วโมง

นั่งเรียนแล้วทำให้รู้สึก คุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไป
แนะนำเลย!!!!

CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

AWS Cloud เริ่มจาก 0 จนถึงสามารถนำไปใช้งานได้จริง

เป็น Course AWS สั้นๆ ที่ช่วยทำให้เห็นภาพของการทำงานในฝั่ง Cloud , EC2 , RDS , S3 ในแบบฉบับที่จับมือทำ และไม่ใช้เวลามากจนเกินไป เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น ที่มีความคิดอยากลงเรียน เพื่อหาความรู้ในฝั่งของ AWS

แนะนำเลย!

CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

เมื่อฉันเรียนคอร์สนี้จบ > Software testing foundations : Transitioning from manual to automation

ช่วงที่เริ่มต้นทำงานเป็น Quality Assurance Engineer ตอนแรกก็คิดว่างานมันไม่น่ามีอะไร ก็แค่ไปทำอะไรๆให้มัน Automated สิ แค่นั้นเอง ไม่เห็นจะยาก

หลังจากเรียนคอร์สนี้จบ แล้วมองย้อนกลับไปตอนนั้น เห็นความคิดตัวเองแล้วรู้สึกว่า “คิดตื้นดี” ทำไมคิดง่ายจัง

หลังเรียนจบ ก็ได้ Topics เพื่อเอาไป Discuss กับทีมเพื่อหาทางเพิ่มประสิทธิภาพที่ว่าจะทำอย่างไรให้งานที่ทำใน Sprint มันเร็วและดีขึ้น ในแต่ละ Process

เพราะตอนนี้รู้แล้ว ว่าเราควรจะมองส่วนไหนเป็นสำคัญ

Good Job!

CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

10 หลักการสำหรับ Agile Testers

ขอเกริ่นก่อนสักนิดว่า ตัวผมเองได้มีโอกาสมาทำงานในตำแหน่ง Quality Assurance Engineer ซึ่งในวันที่เริ่มเขียน Blog นี้ก็น่าจะเป็นเวลาที่ทำงานในตำแหน่งนี้ได้เกือบ 2 ปี (1 ปี 9 เดือน) ในองค์กรที่ผมทำงานอยู่มีการนำเอาแนวทางของ Agile เข้ามาร่วมทำงานไปด้วยในทุกกระบวนการเลย ซึ่งถือว่าใหม่พอสมควรสำหรับคนที่ย้ายมาจากองค์กรที่เป็นแบบลำดับชั้นและทำงานในรูปแบบ Water Fall มาทำงานในรูปแบบกึ่งลำดับชั้น + แบนราบ และทำงานในรูปแบบ Agile ที่ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ในหลายๆเรื่อง

การทำงานในบริษัทปัจจุบันกับตำแหน่งนี้ มีการสวมหมวกที่เปลี่ยนไป ทำให้มุมมองที่มีต่องานนั้นก็แตกต่างไปจากเดิม

ช่วงแรกที่เข้ามา ถือว่าใหม่ไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานใหม่ Mind-set การทำงานแบบใหม่ จากเดิมที่ทำงานเป็นนักพัฒนา (Developer) ที่มุ่งเน้นการนำเอา Environtment ต่างๆที่องค์กรมี มารวมกับ Skills ที่เรามีอยู่ มาผนวกรวมกันสร้างเป็น Services หรือ Products เพื่อไปตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะทำไปเพื่อแก้ PainPoint ต่างๆ หรือสร้างบริการเพื่อหารายได้ให้กับองค์กร รวมไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้ Code , Environtment , DB ทำงานได้ไว ตอบสนองได้เร็ว ในบางที่อาจรวมไปถึงการเขียน Code ให้มีมาตรฐาน สามารถอ่านได้ง่าย ดูแลรักษาได้ง่าย รวมถึงสามารถ Test ได้ง่าย ซึ่งกับที่ทำงานเดิมของผมนั้น ผมเรียกตัวเองว่าเขียน Code ได้ไม่ดี หรือถือว่าไร้มาตรฐานได้เลย (^____^”)

แต่พอเราได้เข้ามาจับงาน QA ของงานปัจจุบันนี้ ความคิดในตอนแรกก็คิดว่า “คงไม่มีอะไรหรอกมั้ง เดี๋ยวเขียน Code ไป Automated Test ให้มันจบๆงานไปแค่นั้นเองจะมีอะไรมาก” พอเอาเข้าจริง มันไม่ง่ายแบบที่คิดเลย เพราะมีหลากหลายเรื่องที่เราควรจะต้องศึกษาในจุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็น Mindset ของ QA , การป้องกัน Issue ที่อาจเกิดในตัว Product , การทำงานร่วมกับทีมเพื่อสร้าง Best Practice ที่จะทำให้งานและการเทสเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างการทดสอบแบบ Shift Left (Test from the early stages) , การแจ้ง Progress ของงาน , การ Monitor งาน , การเพิ่มคุณภาพของงาน ที่จะทำให้ทั้งทีมของเราผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ?!!

ความคิดแรกที่เริ่มมารับงาน กับความรู้สึกหลังจากที่ทำงานไปสักระยะนึงจนถึงตอนนี้เริ่มรู้สึกว่า “งานนี้ไม่หมูนะ” การทบทวน ตรวจสอบความรู้ในสิ่งที่เราขาดยิ่งทำให้รู้สึกว่าเรายังมีอีกหลายเรื่องเลยที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่ม ไม่งั้นเราไปต่อกับงานสายนี้ได้ไม่ดีแน่นอน

จึงเป็นที่มาให้ได้มาเขียน Blog นี้….

พอรู้ว่าขาด ผมเริ่มไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การไป Take Course ของ Linkedin Learning เพื่อกลบสิ่งที่ขาดต่างๆเหล่านั้น และทำให้เรามีความมั่นใจกับความรู้ของมาตรฐานการทำงาน เพื่อให้การทำงานกับทีมนั้น ทำได้ดียิ่งกว่าเดิม

รวมถึงการอ่านหนังสืออย่าง “Agile Tesing.. Apractical Guide for Testers and Agile Teams” ของ Lisa Crispin , Janet Greggory ที่อ่านแล้วรู้สึกว้าวจนทำให้มาเขียนสิ่งดีๆในหนังสือเล่มนี้แบ่งปันให้ผู้อื่นได้อ่านกัน

ผมขอยกตัวอย่างของ 10 หลักการสำหรับ Agile Testers ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ให้กับใครก็ตาม ที่ยังคงทำงานเป็น QA แต่ยังไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้ หรือคนที่อยากจะเป็น QA ที่ดี เพื่อให้ได้รู้กันว่า 10 หลักการที่ดีนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดหลังจากอ่าน Blog นี้ไปแล้ว คุณน่าจะมี Mindset ของการ Test ที่ดีติดตัวไป ไม่มากก็น้อย

1.ให้ผลตอบรับอย่างต่อเนื่อง (Provide Continuous Feedback): ความสำเร็จในงานขึ้นอยู่กับการให้และรับ Feedback ที่ทำเป็นประจำ เพื่อให้ทีมมีทิศทางที่ชัดเจนและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อทีมเจอกับปัญหาไม่ว่าจะเป็น ส่งงานผ่าน QA ไปแต่ User บอกว่าหน้าจอไม่ตรงกับที่ออกแบบไปนะ แบบนี้เราควรจะแก้ปัญหาอย่างไร วิธีที่ดีที่สุดคือการให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เราควรทำ ปัญหาที่มันเกิดแล้ว หากมีการจัดการกับมันเป็นอย่างดี เชื่อว่าปัญหาเดิมเดียวกันนี้ จะไม่เกิดอีกในครั้งถัดไป

2.นำเสนอคุณค่าต่อลูกค้า (Deliver Value to the Customer): ทุกกิจกรรมที่ทำควรมีจุดมุ่งหมายในการสร้างคุณค่า (Value) ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ทั้งนี้ต้องฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้า หน้าที่ของ Tester ในจุดนี้คือการมองที่ภาพรวมของ Product ในแต่ละ Sprint ถึงสิ่งที่มันควรจะทำได้ (Critical path) หรือ งานเฉพาะที่จำเป็นและมีความสำคัญบางส่วน (Thin slice) ในเส้นของงานต่างๆ ว่าจะต้องทำงานได้เป็นอย่างดี และหากมีเวลา เราจึงวกกลับมาทำ Features ที่เหลือก็ยังได้ (แม้ในความเป็นจริง เวลาในแต่ละ Sprint จะไม่เคยจะเหลือเลย Hahaha)

3.ส่งเสริมการทำงานแบบติดต่อช่วยเหลือกัน (Enable Face-to-Face Communication): ไม่มีทีมไหนที่ทำงานได้ดีโดยปราศจากการสื่อสารในทีมที่ดี การสื่อสารสามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจและประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน ยิ่งทีมมีการสื่อสารภายในทีมที่ดีและมีบรรยากาศที่ดี จะช่วยให้การทำงานในทีม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4.มีความกล้า (Have Courage): อ่านหัวข้อนี้แล้วชอบมาก โดยเฉพาะคนไทยที่มีคำว่า “เกรงใจ” อยู่ในพจนานุกรม ความกล้าในที่นี้อาจจะเป็นความกล้าที่เราไปขอความช่วยเหลือจากทีม Dev แล้วทีม Dev ก็กำลัง Pair งานกันตลอดทั้งวัน และ Issues ที่เราเจอก็ไม่สามารถรอได้ คำว่าเกรงใจ จะทำให้วันใน Sprint ของเราหายไป 1 วัน การเข้าไปคุยเพื่อขอความช่วยเหลือจะช่วยเรื่องนี้ได้ หรือการชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดในระหว่างการ Deskcheck ร่วมกันกับ Dev และเราตีงานกลับไปเพราะว่าเราเจอ Bug นั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความกล้า แต่เชื่อเลยว่าหากเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีแล้ว และทีมมีบรรยากาศในทีมที่ดี จนทีมเข้าใจว่าเราก็เป็น QA ประเภทแบบนี้ เมื่อนั้นงานจะง่ายขึ้น การกล้าทำในสิ่งที่ถูกในงาน จะช่วยให้งานที่เราทำนั้นดีขึ้นตามมา

5.ทำให้มันเรียบง่าย (Keep It Simple): ปฏิบัติตามหลัก KISS (Keep It Simple, Stupid!) โดยมุ่งทำให้ทุกสิ่งที่ทำมีความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่นทีมทำการประเมิน Score ใน Card งาน ได้คะแนนมาถึง 13 Points! ซึ่งจะดีกว่ามั้ยหากเราทำการย่อย Card ที่มีคะแนนสูงเหล่านั้นให้แตกออกเป็น Card 3-4 ใบแทน เพื่อทำให้การเทสนั้นง่ายขึ้นหรือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยในการเทส เพื่อให้เราทำเวลาได้ดีขึ้น ดีกว่าหมดเวลาไปกับการทำ Manual Test นานๆ แถมยังรองรับการ Regression Test ใน Releash ถัดไปได้อีกด้วย (ว่าแต่การใช้ Tools มันเรียบง่ายกว่า Manual Test จริงรึ ? !)

6.การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Practice Continuous Improvement): การมองหาวิธีการทำงานให้ดีขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Mindset ใน Team Agile ที่ดีที่สะท้อนถึงการเรียนรู้และปรับปรุงจากประสบการณ์ในทุกๆ งานที่ทำ, นำไปสู่การพัฒนาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสัมมานา การศึกษาหาความรู้การเทสจาก Online Courses ต่างๆ การอ่านหนังสืออย่าง “Agile Tesing” เล่มนี้ หรืออาจเป็นการนำเอาส่ิงที่ควรปรับปรุงจาก Restrospective มาปรับปรุงในแต่ละ Sprint ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

7.ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (Respond to Change): อยากบอกว่าข้อนี้ที่ประสบกับการทำงาน คือข้อที่ยากสุด ตัวอย่างเช่นเมื่อมีงานเข้ามาแล้วเมื่อต้น Sprint และเราได้ Test Card นั้นผ่านไปแล้ว แต่อยู่ๆ Dev ไปทำ Features มาเพิ่มและกระทบกับ Card เดิมที่เราได้ทำไปแล้ว ทำให้เราต้องกลับมา Test ใหม่ หนำซ้ำกลับมี Bug ?! ความสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นหลักการที่ดีที่ควรมีของ Agile Tester คำถามถัดมา และหากทีมเจอปัญหาแบบนี้เราต้องทำอย่างไร หากทีมไหนที่ทำ Automated Test ไปแล้วคงไม่น่ามีปัญหามากเท่าไหร่ เพราะทุกๆ Features ที่ขึ้นไป เราสามารถสั่ง Automated Test ให้รันซ้ำได้ แต่หากทีมไหนทำงานแบบ Manual Test กันหล่ะก็ งานนั้นคงยิ้มรับและบอกว่าเราพร้อมเทสให้ใหม่นะ

8.การจัดการตนเอง (Self-Organize): ทีมควรมีความสามารถในการจัดการและตัดสินใจด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการจัดการที่เป็นรูปแบบลงตัว รวมไปถึงความรับผิดชอบในงานของตนเองและงานของทีม ที่ต้องมองว่าเราต้องช่วยกันเพื่อให้ทีมบรรลุเป้าหมาย

9.เน้นที่คน (Focus on People): การทำงานแบบ Agile Team มุ่งเน้นที่คนทำงาน สมาชิกภายในทีมควรรู้สึกปลอดภัยไม่ต้องรู้สึกกังวลจากการถูกตำหนิหรือกลัวไปว่าจะตกงานหากทำงานได้ไม่ดี การเคารพซึ่งกันและกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำงานด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญที่ช่วยให้การส่งมอบผลงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

10.สนุก (Enjoy): การทำงานที่เป็นมิตรและสนุกระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตำแหน่งต่างๆ สามารถช่วยให้การทำงานนั้นดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Dev – QA , BA – DEV , BA -QA , QA – BA – USER , QA – BA -DEV , QA – USER , PO – QA ยิ่งทีมมีการประสานงานที่ดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้ยิ่งช่วยให้ทีมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ส่งมอบผลงาน เป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น

หลังอ่านหัวข้อนี้จบ เหมือนคนที่รู้แล้วว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไปกับทีมดี รวมถึงรู้ไปอีกว่า เราจะวางตัวในฐานะ QA ที่ดีได้อย่างไร

ก่อนจบหัวข้อยาวนี้ไป คงได้แต่บอกว่ารู้สึก “โชคดี” ที่ได้มาเจอกับทีมที่เข้มข้นกับการทำงาน แบบ Agile และยังได้ “โชคดี” ต่อที่ 2 ที่มาเจอกับหัวหน้าที่เข้มข้น และรู้ในแต่ละกระบวนการ Agile เป็นอย่างดี ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะพยายามสอดไส้สิ่งที่ได้ไปเรียนมา หรือได้มาจากการสังเกตุกับทีมอื่นๆ บริษัทอื่นๆ เพื่อเอาความรู้ต่างๆเหล่านั้นไปปรับใช้กับทีมอีกที

ตอนนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้ทีมที่ทำอยู่ เป็น Automated Test 80% Manual Test 20% จากภาพของ Test Piramid + CICD ก็ไม่รู้ว่าทีมที่รับผิดชอบจะทำได้สำเร็จเมื่อไหร่ แต่เชื่อเลยว่าหากยังทำต่อไป คิดว่าต้องสำเร็จได้แน่นอน

ขอบคุณที่อ่านจนจบ

CategoriesEnglish...My PracticedToday..what i learn

รีวิวการเรียนภาษากับชาวต่างชาติ เป็นเวลา 2,000 นาที

รีวิวการเรียนภาษากับชาวต่างชาติ เป็นเวลา 2,000 นาที

เป็นอีกเดือนที่ลังเลว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะหลังจากเรียนไป 1 เดือนทำให้รู้ว่าเรามีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับภาษาอังกฤษอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะ Pronunciation และ Grammar แต่ก็นั่นแหล่ะ Safezone ไม่เคยทำให้ใครเติบโต เลยทำให้ยังเลือกเรียนไปต่อ ทั้งๆที่รู้ว่าเราพูดผิดนั่นแหล่ะ แต่ก็ยังจะพูดต่อเพราะหวังว่าจะจดจำศัพท์จากการใช้งานจริงได้มากขึ้น

ลองถามอาจารย์บางท่าน ว่าหากเลือกจะปรับปรุงก่อนเพียงหนึ่งอย่างในช่วงเวลาที่มีจำกัด หากต้องเลือกระหว่าง การปรับปรุงภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ pronunciation กับ grammar ผมควรเลือกปรับปรุงอะไรก่อนดี

อาจารย์ต่างชาติท่านนั้นแนะนำผมมาว่า ผมควรฝึกภาษาในส่วนของ Pronunciation ให้ดีก่อน เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ชาวต่างชาติเข้าใจในสิ่งที่คุณสื่อได้มากขึ้น มากกว่าการที่คุณรู้ grammar แต่ pronunciation ของคุณไม่ดี

อาจารย์ท่านนั้นยังเสริมอีกด้วยว่า grammar คุณไม่จำเป็นต้องเรียนครบทุก grammar ขอเพียงรู้แค่ simple present , simple pass , simple future เพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการสื่อสารแล้ว หากเราคล่องเรื่องพวกนี้ ค่อยไปศึกษาในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมได้ เพราะตอนนี้คุณก็สื่อสารมันออกมาได้แล้ว

จากปัญหาที่เจอระหว่างการเรียนคือบางคำศัพท์ เราไม่เข้าใจ ทำให้ขาดความเข้าใจในบางวลีที่มีการพูดคุยกันยาวๆ เลยเป็นที่มา ว่าเราจะหาตัวช่วยมาแก้ปัญหานี้อย่างไรดี จนมาเจอกับ Office Word 360 ที่มีความสามารถในการฟังเสียงและเขียนลงไปที่หน้าจอของโปรแกรมแทบจะในทันที ตัวช่วยนี้ ช่วยทำให้การฟังภาษามีความสะดวกมากยิ่งขึ้นในการเรียน

และนอกจากที่ Microsoft Word 360 จะสามารถอัดเสียงและเขียนเป็นภาษาให้เราอ่านเข้าใจได้แล้ว ตัวมันเองยังมีความสามารถในการแปลภาษาจากเอกสารให้กลายเป็นภาษาที่เราต้องการได้ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้การเรียนภาษานั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น หลังเรียนจบทุกๆครั้งไปแล้ว การหาเวลากลับมาทบทวนในแต่ละครั้งที่เราเรียนไป ว่าคุณครูแต่ละท่านพูดอะไร และทำไมเราจึงตอบแบบนั้นออกไป ก็เป็นการทบทวนการเรียนรู้ที่ดี และหากเราจินตนาการเสริมไปอีก ว่าหากว่าเราสามารถตอบกลับคุณครูท่านไปใหม่ได้อีกครั้ง เราจะเลือกใช้คำว่าอะไรตอบกลับไปดี ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดียิ่งขึ้น

ก็รู้แหล่ะว่าการจะได้มาซึ่งทักษะทางด้านภาษา ไปจนถึงพูดได้คล่องแคล่วจนเหมือนเจ้าของภาษาได้ จะต้องใช้เวลาในการศึกษานานมาก แต่การที่เราพยายาม Optimize วิธีการให้ดียิ่งขึ้น ทบทวนให้มากขึ้น มันก็น่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วยนี่นา จริงมั้ย

ตอนนี้ตั้งเป้าว่าอยากจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สัก 1 ปี แล้วจะย้อนกลับมาบอกกับโพสต์นี้อีกที ว่าเราเดินมาไกลจากโพสต์นี้ แค่ไหนแล้ว

ขอสวัสดีล่วงหน้ากับคุณตัวผมเองในอนาคตเลยแล้วกัน ตอนนั้นภาษาของคุณ น่าจะดีกว่าผมในตอนนี้มากๆ ผมเชื่ออย่างนั้นเลยครับ

CategoriesInspiration...My self-ImprovementToday..what i learn

Kodawari : ความสุข..จากการใส่ใจในสิ่งที่ทำ

นั่งฟังเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาญี่ปุ่น ที่ชื่อว่า “Kodawari” จากอาจารย์เกตุ (ผศ. ดร.กฤษตินี พงษ์ธนเลิศ) แล้วมีความรู้สึกว่ามันช่วย Heal ใจได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนจะอธิบายว่ามัน Heal ใจได้อย่างไร ขอเล่าก่อนว่าคำว่า Kodawari มันความหมายว่าอย่างไร

คำว่า “โคดาวาริ” (Kodawari) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ความแน่วแน่ในการทำบางสิ่งบางอย่างให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งรวมถึงความพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้งานที่ทำนั้นออกมาดีเลิศที่สุด หากให้เปรียบเทียบตามความเข้าใจ ผมคิดว่าคงจะเหมือนกับหลักของ “มรรค ๘” ในศาสนาพุทธที่สอน โดยเฉพาะในหัวข้อ สัมมาอาชีวะ (มีอาชีพสุจริต) และ สัมมาวายามะ (มีความขยันหมั่นเพียร) เพื่อช่วยให้งานที่เราทำนั้น ออกมาดีเลิศ

ความประทับใจจาก ตัวอย่างที่อาจารย์ผู้บรรยายยกมา คือมีคนอยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น ไปทำงานที่ไหนก็ทำไม่ทน จนทำให้ตัวเองโดนไล่ออก จึงพยายามค้นหา ว่า “คนที่เป็นโรคนี้แบบเราเนี่ยะ ทำอะไรถึงจะดีนะ” จนได้มาเจอกับศิลปะ

จากการที่เขาคลุกอยู่กับศิลปะ และคิดว่าใช้เวลากับมันได้ดี มีสมาธิกับมันได้นานๆ ประกอบกับชอบในสิ่งนี้ จึงทำให้เขาเลือกที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ

เขาเริ่มทำการสร้างศิลปะจากใบไม้ โดยการเอามีดคัตเตอร์มาแกะสลัก มากรีดให้เป็นลวดลายต่างๆ จนเริ่มมีคนชอบและขอซื้อ !!!! (ใบไม้ ที่ไม่ได้ขายได้เฉพาะใบกระท่อมและใบหูกวาง) “สามารถค้นหา ศิลปะของคนๆนี้ได้ โดยค้นจากคำว่า lito leaf art หรือเข้าไปที่ Instragram และค้นหาได้ที่ Account : @lito_leafart”

กับอีกหนึ่งความประทับใจคือคำว่า “Slow Success” ที่ฟังแล้วรู้สึกดี เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในสื่อที่มุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จระยะสั้น หรือมองหาแต่การทำให้ได้มาซึ่งเงินที่มากขึ้น รวมถึงต้องสำเร็จให้ไว แต่ไม่มีใครเลยที่มุ่งอยากจะเล่นเกมส์ยาว หรือเป็นคนที่อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ ที่เราพบเจอกับแต่ละช่วงของชีวิตและมองหาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวเรา ที่มาพบเจอและร่วมงานกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอได้ฟังเรื่องนี้จึงประทับใจมาก

หลังนั่งฟังจบ ก็กลับมาทบทวนกับตัวเองว่าตอนนี้เราใส่ใจในงานที่เราทำได้ดีหรือยัง หรือยังมีสิ่งไหนในงาน ที่เราสามารถพัฒนามันได้มากขึ้นอีกเพื่อที่งานมันจะได้ดีขึ้น โดยมองที่ประโยชน์และความสุขของทีมเป็นหลัก หลังคิดได้ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “นี่เรายังทำสิ่งดีๆได้อีกเยอะเลยเนอะ….”

CategoriesEnglish...My PracticedToday..what i learn

รีวิวการเรียนภาษากับชาวต่างชาติ เป็นเวลา 1,000 นาที

รีวิวการเรียนภาษากับชาวต่างชาติ เป็นเวลา 1,000 นาที (40 ครั้ง ครั้งละ 25 นาที)

ก่อนหน้านี้ ไม่เคยคิดว่าจะมานั่งคุยกับฝรั่งหรือชาวต่างชาติแบบตัวต่อตัวเป็นเวลานานๆได้ เพราะที่ผ่านมา เวลาจะเรียนออนไลน์กับชาวต่างชาติหรือดูหนังอะไรผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ก็จะเปิด Subtitle เป็นภาษาไทยเพื่อดูตลอด เพราะว่าไม่สามารถเข้าใจได้ในทันที ว่าชาวต่างชาติสื่อสารอะไร

จนอยู่ๆก็ได้ทักษะการฟังภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจ มาเป็นทักษะติดตัว แม้ว่าจะไม่ถึงกับ 100% เป๊ะก็ตาม

การฟังภาษาอังกฤษ และเข้าใจในที่นี้หมายถึง เวลาที่ตัวผมฟังชาวต่างชาติพูด หรือสนทนาในหัวข้อทั่วไป ในชีวิตประจำวัน ผมจะเข้าใจทันทีเลยว่าคู่สนทนา กำลังสื่อสารอะไร อีกหัวข้อหนึ่งที่ผมเข้าใจในทันทีเลยก็คือ หัวข้อเกี่ยวกับ IT , Programing ที่เมื่อเวลาฝรั่งพูดอะไรมาก็ตาม ผมจะเข้าใจได้ว่าเขาสื่ออะไร แต่หากเป็นหัวข้อของบทสนทนาอื่นๆ ผมอาจไม่เข้าใจได้ เพราะคลังคำศัพท์อาจมีไม่มากพอ

ที่จริงกว่าที่จะเข้าใจภาษาได้ทันทีนั้น ตัวผมเอง ฝึกเรียนรู้การอ่าน การเขียน การฟังมาสักระยะ จนมาจริงจังกับการเรียนผ่านแอพลิเคชั่น duolingo มาเป็นระยะเวลา 1200 กว่าวัน ซึ่งผมคิดว่าในแอพฯนั้น ช่วยเรื่องคำศัพท์และ sentence , grammar ผมได้มากๆ เพราะมันทำให้ผมต่อยอดสามารถไปฟังหลักสูตร Udemy , Linkedin Learning หรือช่องออนไลน์อื่นๆได้ต่อไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ทักษะต่างๆเหล่านั้น มันคือทักษะการนำเข้าซะเป็นส่วนใหญ่ การใช้ทักษะการส่งออกของผมนั้นคือแทบไม่ได้ใช้เลย (ทักษะการนำเข้าข้อมูล หรือ การอ่าน การฟัง ส่วนทักษะการส่งออกข้อมูล หรือ การพูด การเขียน)

กลับมาที่ความรู้สึกหลังผ่านการพูดคุยกับชาวต่างชาติผ่าน 1,000 นาทีแรกไป……

วันแรกและสัปดาห์แรก เป็นสัปดาห์ที่ยากที่สุด นั่นก็เพราะ เวลาที่ชาวต่างชาติ พยายามสนทนากับเรา เราไม่สามารถตอบเขาได้ในทันที ทำให้เสียเวลาไปกับการ คิดว่าต้องตอบยังไง , เราจะต้องใช้ศัพท์อะไรตอบกลับไป ทำให้ทุกครั้งที่เรียน รู้สึกหนักเกินไป (ฉันมาทำอะไรที่นี่)

เมื่อสัปดาห์แรกผ่านไป เริ่มรับรู้แล้วว่าเรามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น sentence , pronunciation , grammar (ไหนว่าเรียนผ่าน Duolingo แล้วเข้าใจ 555) สัปดาห์ที่สอง จึงเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่ยากเช่นกัน เพราะเรารู้ในข้อผิดพลาดแล้ว และคิดว่าเราควรไปปิด Gap เหล่านั้นด้วยตนเองก่อน ก่อนที่มาเรียนในช่องทางนี้

จนมาเจอกับครูในช่องทางนี้แหล่ะ แนะนำว่า “คุณไม่ต้องกังวลเลย ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาแม่คุณ คุณพูดออกมาได้เลย ไม่ต้องอายที่จะผิด ฉันเข้าใจได้” หลังจากนั้น ความคิดที่มีต่อภาษาอังกฤษก็เปลี่ยน เน้นการสื่อสารออกไปในทันที ไม่อายที่จะใช้ศัพท์ผิด เพราะเมื่อคุณใช้ศัพท์ผิด อาจารย์จะช่วยคุณแก้ไขให้ (เริ่มไม่เกิดอาการ “เอ่อ เอิ่ม อ่า……”)

พอความคิดที่มีต่อภาษาเปลี่ยนไป การเรียนภาษาก็เริ่มสนุกขึ้น จากหัวข้อที่คุยกับอาจารย์แต่ละคน ในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป ก็เริ่มหันมาคุยกันในหัวข้ออื่นๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิธีการที่อาจารย์แต่ละท่าน เรียนภาษาด้วยตนเอง ,แอพ หรือ Youtube ช่องไหนที่อาจารย์ใช้ในการช่วย ฝึกภาษาของตัวเอง , วิธีการออกเสียง การขยับปากในแต่ละคำศัพท์ , วิธีการพูดหน้ากระจก , วิธีการฝึกพูดคุยกับตัวเอง หรือการเรียนภาษาผ่านทางซีรีย์โดยไม่เปิด Subtitle

ไปจนถึงระบบฯบำนาญ ของชาวอเมริกาที่มาอาศัยในไทย , การเริ่มต้นตั้งธุรกิจการให้คำปรึกษา ว่ามีวิธีการเริ่มต้นอย่างไร (ครูผู้สอนอาศัยอยู่ในไทย และไม่จำเป็นต้องทำงาน แต่เลือกมาสอน เพราะอยากพูดคุยกับผู้คน) , ครูผู้สอนที่มีประสบการณ์เคยพบกับหลุย ซัวเรส รวมถึงบรรยายว่า หลุย ซัวเรส เป็นคนที่ได้รับความนิยมต่อคนในประเทศเธออย่างไร (เธอเป็นคนอุรุกวัย) , ไปจนถึงกิจกรรม Ikebana จากอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้ได้รู้ถึงวิธีการสร้างศิลปะ จากการหาไม้แตก จานเก่า ดอกไม้ไม่สวยงาม เพื่อนำมารวมกันสร้างเป็นศิลปะที่สวยงามได้ ฯลฯ

ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนเก็บตัว หลังจากผ่านการคุยกับอาจารย์มา 40 คนในหนึ่งเดือน เริ่มคิดว่า ตัวเราไม่น่าจะใช่คนแบบนั้นละ และเริ่มคิดโทษตัวเอง ว่า “ทำไมไม่ยอมเอาตัวเองออกไปเจอกับสังคมบ้างนะจนอายุจะปูนนี้แล้ว”

ก็ไม่รู้ว่ามันจะต้องดีใจเว่อร์มั้ย เพียงแค่เรามีความสามารถที่ทำในเรื่องนี้ได้ จนถึงขนาดต้องมาเขียนโพสต์ลงสื่อ Social แต่คิดแล้วว่าลงไปเถอะ เผื่อมันไปสร้างแรงบันดาลใจให้ใครบางคน ว่าแก่ขนาดนี้ก็ยังไม่สายเกินเรียนภาษา หรือมันอาจไปเป็นตัวอย่าง ว่าหากอยากจะเรียนรู้ภาษาแบบเรา สามารถเรียนตามได้ยังไง หรืออาจมีคน อยากให้การสนับสนุน ชวนเราไปทำอะไรที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ หรือชวนไปทำงานกับบริษัทต่างชาติ เมื่อมีโอกาสนั้นเข้ามา เราจะได้ตอบรับโอกาสนั้นในทันที 555

สุดท้ายนี้ เหมือนยังไม่รู้นะว่าจะเอาทักษะภาษาที่ได้มานี้ไปใช้อะไร แต่ผมคิดว่า ผมจะหาทางใช้มันในทุกๆวันต่อแต่นี้จริงๆจังๆทุกวันแหล่ะ อย่างน้อยก็ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆจากคุณครูแต่ละคนในทุกๆวัน แค่นั้นชีวิตก็สุดยอดมากแล้ว

CategoriesTechnology...My interestedToday..what i learn

How to Boost Your Productivity with AI Tools คอร์ส กับความรู้สึกหลังเรียนจบ

ความรู้สึกหลังเรียนจบคอร์สในหัวข้อ : How to Boost Your Productivity with AI Tools
รู้สึกว้าวกับ Prompt ของ ChatGPT ที่ผู้สอนแนะนำให้ใช้
และวิธีการนำ Prompt ไปใช้ เพื่อหาผลลัพธ์ในแต่ละหัวข้อ
มันสุดยอดจริงๆ

ต่อไปนี้ แค่เพิ่มความเฉลียวในการนำเอาเครื่องมือนี้มาใช้ให้เหมาะกับแต่ละงานต่อไป ก็จะสุดยอดมากๆ

———————————————————————–

ไม่ว่าคุณจะเป็น
-ผู้ทำงานอยู่ในสาย ขายงาน
-ผู้ที่ทำสาย Content Marketing ที่หวังเขียน content ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
-สาย Pitch Product เพื่อไปนำเสนอผู้บริหารที่มีอำนาจการตัดสินใจ
-คนที่กำลังมองหา Idea ต่างๆ เพื่อไปทดสอบให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่
-หรือคุนอาจจะเป็นคนที่อยากมาลงเรียนเพื่อให้ใช้ Prompt บน ChatGPT ได้ดีขึ้น

ขอแนะนำให้เรียนคอร์สนี้เลย คุ้ม!!!!

CategoriesInspiration...My self-ImprovementTechnology...My interestedToday..what i learn

Linkedin Learning กับคำบรรยายภาษาไทย

เห็นเทคโนโลยีการสอนของ Linkedin Learning ที่เอาคำบรรยายภาษาไทยมาใส่ในหลักสูตร แล้วก็รู้สึกดีใจ ว่านี่เขามองเห็นผู้ใช้งานคนไทยเพิ่มมากขึ้น จนเอาภาษาไทยเข้ามาใส่ให้ผู้ใช้งานคนไทยได้ใช้เลยหรอ ?!

เท่าที่ลองดูวิดีโอบนหน้าเว็บไซต์ของ Linkedin Learning ในวันนี้หลายๆตอนพบว่า ตัวเว็บไซต์ฯเอง มีภาษาไทยในทุกวิดีโอที่ผมเข้าไปดูเลยนะ (o____O”)  (เขาเพิ่มมานานหรือยัง เหมือนเดือนที่แล้วยังไม่มีนี่นา การเรียนที่เว็บไซต์นี้มันสะดวกสบายขนาดนี้เลยหรอ)

ขอขยายความน่าสนใจเพิ่มเติมอีกนิดว่า ตัวแปลภาษาที่ Linkedin Learning เลือกใช้ ไม่ใช้การแปลภาษาแบบที่พวกเราเคยใช้กับ Google Translate เพราะคำบรรยายภาษาอังกฤษ กับภาษาไทยที่แปลมานั้น มีความสวยของภาษาและแปลได้ตรง ทำให้เข้าใจได้ง่าย เสมือนว่าเรานั่งดูหนังซับไทยสักเรื่องที่ทำให้เราอ่านแล้วเข้าใจ ช่วยให้การเรียนรู้เทคโนโลยีที่ยากๆบางอย่าง กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายกว่าเดิมเลยทีเดียว

หากใครที่มีทักษะการฟังภาษาอังกฤษที่ยังไม่เทพมากเหมือนผม และอยากฝึกฝนเพิ่มทักษะทางด้านเทคโนโลยี ขอแนะนำให้เข้ามาเรียนที่เว็บไซต์นี้กัน แม้หลายคอร์สที่เห็นอาจไม่ได้เจาะลึกหรือละเอียดมากแบบที่วิทยากรบางท่านใน Udemy ทำ แต่ผมคิดว่าหลายๆหัวข้อที่เป็นพื้นฐาน สามารถเอาไปต่อยอด ถาม AI ต่างๆที่มีอยู่ในตลาดเพื่อขยายขอบเขตความรู้ให้มากขึ้นไปได้ (จริงๆที่ Linkedin Learning ก็มีหัวข้อที่ Advance + Learning Path  เยอะอยู่นะ ใช่ว่าจะมีเพียงหัวข้อพื้นฐาน แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว ยังมองว่า Udemy มีความหลากหลายจากหลาย topics มากกว่า และมีคอร์สเฉพาะทางที่ลงลึกระดับ 50-60 ชั่วโมงเยอะกว่านั่นเอง)

ต่อไปหากองค์กรไหนอยากให้ลูกน้องหรือคนในทีมเก่งขึ้นแบบไวๆ ขอแนะนำให้ซื้อคอร์สเหมารายปีจากเว็บนี้ แล้วเอาไปแจกพนักงานในองค์กรไปเลยฟรีๆ รับรององค์กรคุณจะเก่งขึ้น 10 เท่า 100 เท่าแน่นอน

ไม่รู้ว่าคนรุ่นต่อจากนี้จะเก่งขึ้นไปได้ขนาดไหน แต่เชื่อเลยว่าจากความสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างสวนทางกันของเทคโนโลยีกับขอบเขตของการเรียนรู้ในตอนนี้ จะช่วยส่งเสริมให้คนต่อจากนี้เก่งขึ้นแน่นอน

CategoriesProgram..My secret toolsToday..what i learn

ตัวช่วยสร้างนิสัย : Habit-building tools

ในขณะที่กำลังจะหาเรื่องมาเขียน ก็ยังหา Solution ที่จะทำให้หน้าเว็บมันแสดงผลออกมาได้สวยตรงตามที่เราต้องการไม่ได้

เอาเข้าจริง ความสวยกับข้าพเจ้า เป็นของไม่ถูกกัน เพราะหลายครั้งที่ตั้งใจทำให้สวยออกมาแทบตาย สุดท้ายมันมักไม่สวย …

ก็ไม่เป็นไร ถือว่าฝึกฝนกันต่อไป


เข้าเรื่องในหัวข้อนี้กันก่อนเลย คือในตอนนี้อยากจะมาเล่า ว่าที่ผ่านมา ตัวข้าพเจ้าเองได้มีการใช้งาน Tools ตัวหนึ่งที่ใช้สำหรับสร้างการนิสัยที่ดีมาก เลยอยากมาบอกต่อ ซึ่ง Tools ตัวนี้ เป็น Application บนระบบปฏิบัติการบน Android (ต่อไปจะเรียก Application ว่า “แอพ” + แอพตัวนี้ไม่ฟรีนะ)

โดยแอพนี้มีชื่อว่า Habitnow หน้าตาก็ตามภาพด้านล่าง ใครอยาก Download สามารถ Download จาก Playstore ได้เลย

วิธีการใช้งาน ก็แค่สร้าง Category หรือประเภทที่เราต้องการลงไป ที่ Tap Category จากนั้นก็ทำการสร้าง Habit หรือนิสัยต่างๆ ที่เราอยากทำให้สำเร็จในแต่ละวันลงไปที่ Tap habit

โดยตรงจุดนี้ เราจะต้องระบุลงไปด้วยว่า นิสัยที่เราต้องการสร้างนั้น เราจะให้มันทำงานทุกวัน หรือบางวันในระหว่างสัปดาห์  มีหน่วยวัดความสำเร็จที่ต้องการเป็นอะไร เช่น yes or no , จำนวนครั้ง หรือเวลาที่ใช้ไป ไปจนถึง เราอยากให้นิสัยที่เราสร้างไว้ ไปสิ้นสุดที่วันไหน ซึ่งตรงนี้ หากเราไม่กำหนด ตัวแอพจะกำหนดให้เราไว้ประมาณ 60 วัน (ถ้าจำผิดก็ขออภัย)

เมื่อถึงเวลาใช้งาน เราก็เปิดไปที่ Tap today  จากในภาพทางด้านขวาสุดของด้านล่าง จากภาพจะเห็นว่าข้าพเจ้าได้เตรียมหัวข้อที่ต้องทำภายในวันนี้ไว้ ประมาณ 9 เรื่อง ถ้าทำเสร็จ ก็แค่มา กดเช็คว่าทำแล้ว ในกล่องเช็คบ็อกกลมๆ ทางด้านขวา (ถ้าทำไม่เสร็จ หรือไม่ทำ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ไม่โกรธตัวเองก็พอ)

เพียงเท่านี้ เราก็มีแอพไว้คอยบันทึก สิ่งที่เราอยากจะสร้างให้เป็นนิสัยกันไว้ใช้งานแล้ว

ในมือถือ android บางรุ่น อนุญาตให้ผู้ใช้งาน สามารถทำทางลัดหรือ shortcut ให้กับแอพ วางไว้ที่หน้าจอได้ จากในรูปจะเห็นว่า เวลาเราเปิดมือถือขึ้นมา มันช่างอยากจะสร้างนิสัย ด้วยการไปทำสิ่งนั้นให้เสร็จ และเช็คมันไปว่าสำเร็จแล้วซะเหลือเกิน

ก่อนจบไป ……ใครที่เป็นมือใหม่ ไม่เคยใช้แอพอะไรพวกนี้ อยากให้ลองตั้งสิ่งที่อยากสร้างเป็นนิสัยแค่ 1-2 เรื่องในแต่ละวันก่อนก็พอ เพราะหากตั้งเยอะเกินไป มันมีโอกาสที่เราจะทำสิ่งนั้นๆไม่สำเร็จ พลอยทำให้ไม่อยากสร้างนิสัยอื่นๆต่อไปด้วยอีกเลย ดังนั้นอย่าเร่งสร้างนิสัยให้มากเกินไปในช่วงต้นกันหล่ะ

ส่วนคืนนี้ ดีใจ บล็อกเขียนได้ 2 ตอนแล้ว ไปนอนดีกว่า

Good bye..n..good night ฝันดีและราตรีสวัสดิ์ครับ

CategoriesInspiration...My self-ImprovementToday..what i learn

ทำไมข้าพเจ้า จึงมาเขียนบล็อก : why i write a post (blog , story ….)

ที่จริงคือไปอ่านหนังสือเรื่อง “The power of Output” (ชื่อภาษาไทย : ศิลปะของการปล่อยของ)

เลยทำให้อยากสร้างนิสัย รักการ Generate Output ออกมาให้ได้เป็นประจำ

แต่ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้เลยสักอย่าง จนวันนี้ ก่อนนอนขอเขียนอะไรสักหน่อย

เลยได้มาใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีเช่นเว็บไซต์ของตัวเองนี่แหล่ะ

พ่นสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา จะทำมาก ทำน้อย หรือไม่ยอมทำ คงต้องมาดูกันอีกที


หัวข้อบล็อกต่อจากนี้ไป คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ สิ่งที่ตนเองสนใจ ไปจนถึงเขียนสิ่งที่อยากเขียน ตามที่สมองมันอยากจะปล่อยออกมา

คาดหวังจุดที่หนึ่ง คือสร้างนิสัยการปล่อยของ ของตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป คาดหวังจุดที่สอง คือพัฒนาทักษะการปล่อยของที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียน พูด บรรยาย ให้เป็นไปได้ด้วยดี

หวังว่าคนที่หลงมาอ่าน จะติดตามอ่านกันต่อไป

แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า